สรุปข้อควรรู้ด้านบัญชีในการซื้อและใช้รถในกิจการ | Blog | บริษัท บัญชีมีค่า จำกัด

สรุปข้อควรรู้ด้านบัญชีในการซื้อและใช้รถในกิจการ

Blog - บทความด้านบัญชีธุรกิจที่มีประโยชน์

สรุปข้อควรรู้ด้านบัญชีในการซื้อและใช้รถในกิจการ

มีคนถามหลังไมค์กันมาเยอะ เรื่องการซื้อ และ นำรถยนต์มาใช้ในกิจการ ซึ่งจะมีเงื่อนไข ข้อกำหนดจากทางสรรพากรพอสมควร ทางเพจ บัญชีมีค่า ขอสรุปข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ที่ต้องใช้บ่อยๆในการดำเนินกิจการมาให้ทราบกันนะครับ

โดยจะสรุปเป็น 3 หัวข้อหลักๆ คือ
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. ค่าเสื่อม
3. ค่าใช้จ่าย

1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่ารถของเรานั้นเข้าข่ายเป็น รถกระบะเชิงพาณิชย์, จักรยานยนต์ หรือรถยนต์นั่งเกิน 10 ที่นั่ง เท่านั้น ที่สามารถนำมาเครดิตภาษีได้ แต่ถ้าเป็นรถยนต์นั่ง หมายถึง รถเก๋ง หรือ รถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และกิจการได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้แล้ว การจะนำภาษีซื้อไม่ว่าจะเป็น
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อรถยนต์นั่ง และการเช่า
- ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับการซื้อสินค้าหรือรับบริการของรถยนต์นั่ง เช่น ค่ายางรถยนต์ ค่าน้ำมันรถ ค่าอะไหล่ ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซม

ซึ่งภาษีซื้อของรถนั่งทั่วไปจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ ต้องแยก VAT มาเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ซึ่งจุดนี้ ถ้าเรารู้และวางแผนดีๆ จะสามารถทำให้เราซื้อรถได้ถูกกว่าปกติถึง 7% เลยทีเดียว

หมายเหตุ : อ้างอิงตามประมวลรัษฎากรมาตรา 82/5 (6) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ข้อ 2 (1)

*** Update : รถปิคอัพ 4 ประตู เช่น Mitsubishi Triton, Isuzu D-MAX, Toyota Revo และ Ford Ranger ที่มี Double Cab พ้นจากการเป็นรถยนต์นั่ง ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัตอัตราภาษีสรรพสามิต ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ว่าด้วยรถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม และความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลบ.ซม.

2. ค่าเสื่อม

การคิดค่าเสื่อมราคาของรถยนต์จะสามารหักค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นหักค่าเสื่อมราคาต่อปีสูงสุดเพียงแค่ปีละ 200,000 บาทเท่านั้นทางภาษี

เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าใช้ไปสักพักแล้วมีการขายรถยนต์คันดังกล่าวไป กำไรทางภาษีต้องยึดตามต้นทุนที่เกิดขึ้นอีกด้วย

เช่นจากตัวอย่าง หากใช้รถไปแล้ว 2 ปี แล้วขายต่อในราคา 1,500,000 บาท รถคันนี้จะมีมูลค่าทางบัญชี 1,500,000 บาทเท่าทุน
แต่มีมูลค่าทางภาษี 600,000 บาท (หักค่าเสื่อม 2 ปี) เท่ากับว่าทางภาษี กิจการจะขายรถได้กำไรถึง 900,000 บาทเลยทีเดียว

3. ค่าใช้จ่าย

- ต้นทุนรถยนต์ ให้นำภาษีซื้อต้องห้ามรถยนต์นั่งทั่วไป เป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของทรัพย์สินในการคำนวณกำไรสุทธิได้แต่ห้ามให้กิจการนำมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท คำนวณกำไรสุทธิ
เช่นเดียวกับการเช่ารถยนต์ เฉพาะส่วนที่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน (เช่ารายเดือนและรายปี) หรือ 1,200 บาทต่อวัน (เช่ารายวัน) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปคำนวณกำไรสุทธิเช่นกัน

- ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาเครดิตภาษีซื้อ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุงดูแลรถ , ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ฯลฯ , ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ฯลฯ ต้องนำมาใช้กับรถของกิจการหรือรถที่ได้ทำสัญญาเช่าใช้หรือยินยอมให้ใช้ เท่านั้น ต้องบันทึกเลขทะเบียนรถในใบกำกับภาษี ซึ่งค่าใช้จ่ายของรถกระบะเชิงพาณิชย์, จักรยานยนต์ หรือรถยนต์นั่งเกิน 10 ที่นั่ง เท่านั้น ที่สามารถนำมาเครดิตภาษีได้
แต่ถ้าเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง ไม่ว่าจะใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินก็ไม่สามารถเครดิตภาษีได้

  • บทความโดย: บัญชีมีค่า
  • เขียนเมื่อ : 23 มกราคม พ.ศ. 2563
บริษัท บัญชีมีค่า จำกัด
Tel : 080-3939-982 / Line ID : @ValuedAccounting
เลขประจำตัวผู้เสียภาษี : 0105562005831
Copyrights © 2020 All Rights Reserved by Valued Accounting Co.,Ltd.